ตำหนิพระรูปหล่อหลวงพ่อเงิน พิมพ์นิยม A วัดบางคลาน จ.พิจิตร
รูปหล่อพิมพ์นิยมหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ที่เป็นพระเครื่องรูปหล่อที่แพงที่สุด ในประวัติบันทึกว่า หลวงพ่อเงินท่านได้จ้างช่างจากจากบ้านช่างหล่อกรุงเทพฯคือ นางวัน สุทัศน์ ณ อยุธยา เป็นผู้ออกแบบและหล่อพระรูปหล่อพิมพ์นิยม และเหรียญพิมพ์จอบใหญ่ เหรียญพิมพ์จอบเล็ก โดยประมาณปีที่สร้างอยู่ระหว่าง พ.ศ.2451-2459 ปัจจุบันค่านิยมของพระรูปหล่อพิมพ์นิยมอยู่ที่หลักล้านปลายจนถึงแปดหลักสำหรับสภาพสวยสมบูรณ์ องค์ที่นำมาให้ชมเป็นรูปหล่อพิมพ์นิยมAไม่มีมือรองนั่ง
รูปหล่อพิมพ์นิยม หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ได้รับความนิยมสูงสุดเพราะจำนวนพระมีน้อยและหายากกว่าพิมพ์ขี้ตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างพิมพ์สวยงามกว่าพิมพ์ขี้ตา องค์พระจะอวบอิ่ม พิมพ์นิยมเป็นพระเทหล่อแบบช่อโดยต่อสายนำน้ำโลหะเข้าทางใต้ฐาน เมื่อโลหะเย็นตัวลงจึงตัดก้านชนวนใต้ฐานจึงมีรอยแต่งตะไบทุกองค์และในส่วนที่สำคัญเช่นหน้าผาก โหนกแก้มจะมีความนูนอย่างชัดเจน ริ้วจีวรจะคมชัดอ่อนช้อย เนื้อทองเหลืองผสมซึ่งอายุ 100 ปีขึ้นจะมีประกายสุกสว่างไม่ซีดหม่นและผิวพระจะปรากฎรูพรุนคล้ายตามดซึ่งเป็นธรรมชาติที่เกิดจากการหล่อแบบช่อแม่พิมพ์
รูปหล่อพิมพ์นิยม หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน แบ่งออกเป็น 2 พิมพ์ คือ
1. พิมพ์นิยม Aไม่มีมือรองนั่ง ซึ่งจุดพิจารณา คือ
ด้านหน้า
- ศีรษะด้านบนกลมมน
- เปลือกตายื่นออกมาเหมือนหมวกแก๊ป
- เนื้อหน้าอกด้านขวามีกล้ามเนื้อนูนเต่งไม่แบนราบ
- สังเกตุการวางมือซ้ายขวา ปลายมือทั้งสองไม่จรดเชื่อมต่อเนื่องเป็นเนื้อเดียวกันและไม่ปรากฎนิ้วชี้รองรับ (บางองค์อาจเห็นลางๆ)
- มีเนื้อนูนย้อยใต้ข้อมือขวา
- เส้นขอบสังฆาฏิช่วงกลางมีรอยคอดเว้าเล็กน้อย
- ที่ปลายสังฆาฏิจะเว้าเข้าในทั้งสองมุม
- ริ้วจีวรฝั่งซ้ายเส้นคมชัด อ่อนพริ้วลงมา
- ในริ้วจีวรด้านตรงปลายด้านซ้ายมือของหลวงพ่อ ที่ติดกับข้อมือซ้าย ชายจีวรจะแยกเป็น 2 เส้นเรียงไม่ติดกัน
- ตรงริ้วจีวรปลายเท้าซ้ายของหลวงพ่อจะมีเนื้อเกินนูนขึ้นมา
- ปลายเท้าซ้ายเรียวอ่อนพลิ้ว
ด้านหลัง
- เส้นจีวรจะนูนชัดสวยงามไม่หนา ได้สัดส่วน(ของปลอมมักจะหนา)
- จะมีติ่งเนื้อติดกับสังฆาฎิ
2. พิมพ์นิยม B มีมือรองนั่ง (มือที่ประสานมีเส้นนูนรองอีกเส้นหนึ่ง)
มีบันทึกวิธีการสร้างพระหลวงพ่อเงิน (จากหนังสืออนุสรณ์งานศพคุณสุจิตรา แสงเดือนซึ่งเป็นหลานคุณยายวัน สุทัศน์ ณ อยุธยา) ว่า การหล่อพระหลวงพ่อเงินนั้น จะทำรูปปั้นขี้ผึ้งขึ้นมาหลังจากแก้ไขพิมพ์จนพอใจแล้วจึงนำมาถอดแบบสร้างแม่พิมพ์ด้วยตะกั่วแข็ง แม่พิมพ์ที่ได้มาเพื่อจำลองหุ่นเทียนซึ่งมีส่วนผสมระหว่างขี้ผึ้งและชัน และเมื่อขี้ผึ้งแข็งตัวก็จะถอดแม่พิมพ์นำมาแต่งหุ่นเทียนอีกครั้งอันเป็นสาเหตุที่ทำให้พระหล่อมีลักษณะต่างกัน
เมื่อได้หุ่นเทียนตามต้องการแล้วจะติดแท่งเทียนกลมๆ เข้าที่ฐานเพื่อทำเป็นสายชนวนให้ทองที่เทเข้าสู่หุ่นขี้ผึ้งได้สะดวก จากนั้น ก็นำหุ่นขี้ผึ้งทั้งหมดมาติดกับแกนชนวนตัวแม่ ซึ่งมีความหนาและใหญ่เป็นพิเศษ เพื่อเป็นทางให้น้ำทองแล่นถึงหุ่นพระ จากนั้นนำน้ำมูลโคมาทาพอกหุ่นพระหลายครั้งและใช้ดินผสมทรายหยาบพอกทับเข้าไปและใช้ลวดพันทับเพื่อไม่ให้หุ่นเทียนแตกและทาดินพอกอีกก่อนนำไปตากแห้ง
เมื่อหุ่นแห้ง ก็จะนำหุ่นไปสำรอกขี้ผึ้งโดยความร้อนซึ่งต้องใช้ความชำนาญเพื่อสำรอกขี้ผึ้งออกให้หมดไม่อย่างนั้นในพิมพ์องค์พระจะเกิดรอยขรุขระขึ้น จากนั้นถึงเททองลงในช่อผ่านไปตามชนวนเข้าสู่หุ่นองค์พระทุกซอกทุกมุมแล้วปล่อยให้เย็นก่อนจะนำมาทุบดินหุ่นเอาพระภายในออกมาเพื่อตัดเดือยชนวนแล้วนำมาแต่งตะไบต่อไป
ด้วยเหตุที่เนื้อองค์พระซึ่งเป็นเนื้อทองเหลืองผสม และหล่อมาเป็นช่อ ตามซอกองค์พระมักจะมีคราบขี้เบ้าสีออกน้ำตาลอันเป็นสีสนิมที่เกิดจากธรรมชาติ สิ่งที่สำคัญยิ่งคือด้วยความเก่าตามอายุของเนื้อทองเหลืองผสมสีจะออกเหลืองอมเขียว หรือเหลืองทองเข้มสุกใส และเมื่อส่องไล่ดูจะเห็นเม็ดดินสีดำเล็กๆฝังอยู่ตามผิวองค์พระอันเกิดจากเทหล่อด้วยดินไทยนั่นเอง นอกจากสร้างจากเนื้อทองเหลืองผสมแล้ว ยังปรากฏการสร้างเป็นเนื้อเงินอีกจำนวนหนึ่งด้วย
ฉะนั้น ประการสำคัญที่สุดคือต้องแม่นพิมพ์ จำเนื้อให้ได้ เพราะอายุของพระจนถึงปัจจุบันก็ 100 ปีแล้ว หรือศึกษาเทียบเคียงองค์พระหลายองค์จากแหล่งหนังสือที่เชื่อถือได้ สังเกตหาจุดที่เหมือนกันเพื่อเป็นจุดสังเกตของพิมพ์เฉพาะตัวเราเองครับ
Cr. ขอบคุณข้อมูลโดย อ.ชวินทร์